วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การใช้ excel คำนวณค่าพยากรณ์โดยใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำสองครั้ง(Double Moving Average)

ในบทความนี้จะนำเสนอการปรับปรุงการคำนวณค่าพยากรณ์ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อให้สามารถพยาการณ์ข้อมูลที่มีลักษณะเป็นแนวโน้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเรียกค่าพยากรณ์นี้ว่า ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำสองครั้ง โดยจากการคำนวณค่าพยากรณ์ค่าเฉลี่ยแบบเคลื่อนที่ซึ่งได้นำเสนอไปแล้วนั้นจะพบว่า วิธีการคำนวณดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูงหากข้อมูลที่ผ่านมามีลักษณะแนวโน้มที่เป็นแนวนอน แต่จะไม่เหมาะกับข้อมูลที่มีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือแบบซับซ้อนอื่นๆได้ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการคำนวณค่าพยากรณ์วิธีนี้ก็ยังไม่จัดว่าเป็นวิธีการทางสถิติ
หลักการคำนวณ
จะเริ่มต้นคำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบธรรมดาของข้อมูล N ชุดแรก ตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว จากนั้นจึงนำค่าเฉลี่ยที่ได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วคำนวณหาค่าเฉลี่ยอีกครั้ง ดังนั้นค่าพยากรณ์แบบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำสองครั้งจะต้องมีข้อมูลก่อนหน้าเท่ากับ 2N เมื่อ N คือจำนวนข้อมูลที่ต้องใช้คำนวณค่าพยากรณ์แบบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ธรรมดา เช่น ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ 3 เดือน จะต้องใช้ข้อมูลย้อนหลัง 6 เดือนเพื่อให้สามารถพยากรณ์ได้ ดังแสดงในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 สมการการคำนวณค่าพยากรณ์

มาดูตัวอย่างการใช้ excel ช่วยคำนวณค่าพยากรณ์ สมมุติเรามีข้อมูลยอดขายประจำสัปดาห์จริง 10 สัปดาห์ หากเราต้องการพยากรณ์ยอดขายสัปดาห์ที่ 11 โดยใช้วิธีค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำสองครั้งแบบ 4 สัปดาห์ กำหนดให้หลัก B เป็นหลักที่กำหนดปริมาณยอดขายตามสัปดาห์ต่างๆ ดังแสดงในภาพที่ 2 
คำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบธรรมดาในหลัก C ตั้งแต่เซลล์ C8 (สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป) โดยใช้สูตร excel : AVERAGE(OFFSET($B$5,COUNT($B$5:B8)-$D$1,0,$D$1,1))
คำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำครั้งที่สองในหลัก D ตั้งแต่เซลล์ D11 (สัปดาห์ที่ 7 เป็นต้นไป) โดยใช้สูตร excel : AVERAGE(C8:C11)
คำนวณค่าคงที่ a และ b ในหลัก E และ F ตั้งแต่แถวที่ 11 (สัปดาห์ที่ 7 เป็นต้นไป) โดยใช้สูตร excel :
E11 = 2*C11 - D11
F11 = 2*(C11 - D11)/($D$1)
สามารถคำนวณค่าพยากรณ์ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8  โดยใช้สูตร excel
G12 = E11 + F11     (ให้ m = 1 หมายถึงช่วงเวลาที่นับจากเวลาปัจจุบันไป 1 สัปดาห์  )

หากต้องการค่าพยากรณ์ในสัปดาห์ที่ 13 โดยใช้ข้อมูลการคำนวณในสัปดาห์ที่ 10 ( m = 3) จะเขียนสูตร excel ได้เป็น E14 +3*F14

จากสูตร excel ที่คำนวณได้เราสามารถแสดงค่าพยากรณ์ยอดขายเดือนที่ 11 ได้ดังภาพที่ 2 


ภาพที่ 2 ผลการคำนวณค่าพยากรณ์ยอดขาย

เราสามารถ copy สูตร excel ในหลัก C14 , D14 , E14 ,F14 และ G15 เพื่อคำนวณค่าพยากรณ์ยอดขายในสัปดาห์ที่ 12 ได้ โดยวางสูตร excel ที่ copy มาลงในแถวถัดไป 
จากการนำเสนอการคำนวณค่าพยากรณ์ด้วยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบธรรมดาและแบบซ้ำสองครั้งนั้นจะพบว่าข้อเสียของการคำนวณด้วยวิธีนี้คือ ต้องการจำนวนข้อมูลที่ค่อนข้างมากจึงจะพยากรณ์ได้ใกล้เคียง โดยพบว่าจำนวนข้อมูลย้อนหลังเท่ากับ 4 ให้ค่าพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น แต่นั่นหมายถึงหากต้องพยากรณ์ด้วยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซ้ำสองครั้งจะต้องใช้ข้อมูลย้อนหลังมากถึง 8 ข้อมูล ในบทความต่อๆไปเราจะนำเสนอวิธีการคำนวณค่าพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่นั่นคือ การปรับเรียบ exponential 

จากที่นำเสนอมาจะพบว่าการอัพเดตข้อมูลการคำนวณยังต้องการให้ผู้ใช้ทำการอัพเดตข้อมูลเอง แต่ในบทความถัดไปเราจะนำเสนอการปรับสูตร excel เพื่อให้การคำนวณในเป็นแบบอัตโนมัติโดยอาศัยการกำหนดช่วงข้อมูลแบบพลวัตร และทำการสร้างกราฟเส้นแสดงเปรียบเทียบค่าพยากรณ์ที่ได้กับข้อมูลจริงโดยจะกำหนดให้กราฟดังกล่าวมีการอัพเดตแบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเพิ่มข้อมูลครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com